บทความการแพทย์

ไขมันเกาะตับ ไขมันพอกตับ ไขมันแทรกตับ

โรคตับคั่งไขมัน (FATTY LIVER DISEASE) ในทางการแพทย์จะหมายถึงโรคตับคั่งไขมันที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ มาทำความรู้จักกันเลยครับ

โรคตับคั่งไขมันที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ ( Non-alcoholic liver disease ; NAFLD ) คือการมีไขมันแทรกอยู่ในเนื้อตับ ซึ่งพบได้บ่อยขึ้นทั่วโลก โดยความชุกของโรคตับคั่งไขมันสูงถึง 25% ของประชากรทั้งโลก โดยหากจำแนกออกเป็นแต่ละประเทศจะพบความชุกได้เป็น 3- 46 % รวมถึงในประเทศไทย พบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ถึงแม้การแพทย์ในปัจจุบันจะมีการตรวจพบโรคตับคั่งไขมันมากขึ้นแต่ประชากรส่วนใหญ่ยังถูกละเลยวินิจฉัยแม้กระทั่งผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยตับคั่งไขมันแล้วก็ยังไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างครอบคลุมเท่าที่ควร

ความสำคัญของโรคตับคั่งไขมัน

  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) อาทิเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ซึ่งความเสี่ยงนี้สำคัญที่สุด
  • เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคและการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่ไม่ใช่มะเร็งตับ
  • เกิดภาวะแทรกซ้อนโดยตรงต่อตัวตับ เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ เป็นต้น

การตรวจพบและดูแลรักษาจึงทำให้ลดความเสี่ยงรวมถึงลดอัตราการตายจากการเกิดโรคเหล่านี้ได้

สาเหตุและปัจจัยส่งเสริมการเกิดโรคตับคั่งไขมัน

  • พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีพลังงานสูงเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ เช่น อาหารประเภทไขมันและอาหารจำพวกแป้ง
  • ความอ้วน (Obesity)
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ( Type 2 diabetic mellitus )
  • กลุ่มอาการทางเมตาบอลิก ( Metabolic syndrome )
  • ภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ( Insulin resistance )
  • กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS)
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม ในประชากรที่ มียีน PNPLA3 และ TM6SF2 เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยโรคตับคั่งไขมัน

  • ซักประวัติ ตรวจร่างกายและประเมินความเสี่ยงโดยแพทย์
  • ตรวจพิเศษด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน (Upper abdominal ultrasound) การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้องส่วนบน ( CT scan) การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ (Fibroscan)
  • ตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาโรคร่วม และประเมินปัจจัยส่งเสริมต่อการเกิดตับคั่งไขมัน อาทิเช่น น้ำตาลในเลือด (FBS) ,ไขมันในเลือด (Lipid profile) การทำงานของตับ (LFT) ตรวจการทำงานของไต ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ทรวงอก ตรวจคลื่นหัวใจ และอื่นๆ ตามความจำเป็น

การดูแลรักษา มี 2 วิธี คือ การปรับพฤติกรรมสุขภาพ และการรักษาด้วยยา

  • การปรับพฤติกรรม (Lifestyle modification)
  • การลดน้ำหนัก โดยเป้าหมายคือลดน้ำหนักตัวลงประมาณ 7- 10 % ของค่าตั้งต้น แนวทางดังนี้ ลดปริมาณอาหารต่อวันให้น้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ เพศหญิง วันละ 1200 -1500 กิโลแคลอรี่ และเพศชาย วันละ 1500 -1800 กิโลแคลอรี่ เพิ่มการเดินหรือกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยเดินอย่างน้อยวันละ 10,000 ก้าว ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ ลด/จำกัดปริมาณเครื่องดื่มที่ให้พลังงาน เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
  • ปรับองค์ประกอบของอาหาร หลีกเลี่ยงหรือลดสัดส่วนอาหารกลุ่มไขมันและอาหารจำพวกแป้งหรือน้ำตาลลง โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว อาหารที่มีไขมันทรานส์สูง และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรุกโตสสูง อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ หมูติดมัน เนื้อติดมัน น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ครีมเทียม เนยแข็ง อาหารทะเล ไข่แดง เครื่องในสัตว์ น้ำหวาน น้ำอัดลม เป็นต้น
  • การออกกำลังกาย เป็นประจำและต่อเนื่อง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 วัน วันละ 45-60 นาที
  • การดื่มกาแฟ ไม่เกิน 2 แก้ว/วัน โดยไม่มีการเติมนม น้ำตาลและครีมเทียม ลดความเสี่ยงต่อการเกิดตับคั่งไขมันได้และช่วยลดการเกิดพังผืดในตับได้ เนื่องจากกาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระ
  • การนอนอย่างเหมาะสม ควรนอนหลับอย่างน้อยประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป
  • การรักษาด้วยยา

เนื่องจากการรักษาด้วยวิธีการปรับพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวมีข้อจำกัด การใช้ยารักษาจึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่ผู้ที่เป็นโรคตับคั่งไขมันส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยา โดยสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นโดยการปรับพฤติกรรมตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ยกเว้นผู้ที่เป็นโรคตับคั่งไขมันในระดับปานกลางขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องใช้ยารักษาเพื่อหวังผลรักษาโรคประจำตัวและโรคตับคั่งไขมันร่วมกัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงและพิจารณาให้ยาตามความเหมาะสม

จากข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคตับคั่งไขมันดังกล่าวข้างต้น ท่านสามารถเข้ารับการตรวจและรับคำปรึกษาจากแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกอุดรได้ทุกวันครับ

เอกสารอ้างอิง

Pimsiri Sripongpun , M.D. Division of Gastroenterology and hepatology ,Department of Internal Medicine ,Faculty of Medicine, Price of Songkla University. Treatment in fatty liver: Lifestyle modification, Thai Journal of HEPATOLOGY, Vol.1, No2, 2018

Tanita Suttichaimonkol, M.D. Division of Gastroenterology and hepatology, Department of Internal Medicine, Faculty of Medicine, Khonkaen University. New therapy for fatty liver, Thai Journal of HEPATOLOGY, Vol.1, No2, 2018

ภาพจาก https://www.mdmag.com/medical-news/the-enormous-cost-of-non-alcoholic-fatty-liver-disease

ความรู้